Highlights

  • Airborne คือละอองที่มีขนาดเล็กมาก (น้อยกว่า 5 ไมครอน) หรือละอองเสมหะที่ระเหยไปจนมีขนาดเล็กและมีเชื้อโรคที่มีชีวิตเกาะอยู่ ละอองนี้จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและไกล เชื้อโรคที่สามารถแพร่เชื้อได้แบบนี้ที่แพทย์รู้จักมีเพียง 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด โรคสุกใสหรืองูสวัด และแบคทีเรียวัณโรค

 

  • “WHO ประกาศโควิด-19 เป็น Airborne” เป็นข่าวจริงเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 แต่ถ้าเข้าไปอ่านรายละเอียดจะพบว่าองค์การอนามัยโลกเตือนเฉพาะ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ภายหลังจากมีการศึกษาใหม่พบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีชีวิตรอดในอากาศได้ใน ‘บางสถานการณ์’ ซึ่งจริงๆ แล้วแทบไม่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวันได้เลย

 

  • สาเหตุที่องค์การอนามัยโลกต้องออกมาเตือนบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล ก็เพราะว่าขั้นตอนการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลบางขั้นตอนสามารถเปลี่ยน Droplet ให้กลายเป็น Airborne ได้ โดยขั้นตอนนั้นเรียกว่า ‘Aerosol-generating procedure’ หรือหัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอย (Aerosol) ซึ่งสามารถฟุ้งอยู่ในอากาศได้นาน

Contact, Droplet และ Airborne ต่างกันอย่างไร

คำว่า Airborne มีความหมายที่เหลื่อมกันอยู่ระหว่างคนทั่วไปกับแพทย์ เพราะถ้าเปิดพจนานุกรมคำนี้จะแปลว่า ‘[adj.] (ทหาร, สินค้า) ขนมาทางอากาศ’ หรือ Airborne transmission จะแปลว่า ‘การแพร่เชื้อทางอากาศ’ ทำให้เรานึกภาพว่าเชื้อโรคลอยอยู่ในอากาศเหมือนละอองเกสรที่ลอยไปตามทิศทางลม เมื่อสูดหายใจเข้าไปก็จะติดเชื้อ

 

แต่ในทางการแพทย์จะแบ่งระดับของการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลตามการแพร่เชื้อ (Transmission-based precautions) ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Contact, Droplet และ Airborne นอกเหนือจากการป้องกันตัวตามมาตรฐาน (Standard Precaution) ซึ่งต้องปฏิบัติกับผู้ป่วยทุกรายเหมือนกันคล้ายกับการรักษาสุขอนามัยของคนทั่วไป

Contact:

หมายถึงการสัมผัสเชื้อโรคอยู่ในของเหลวที่หลั่งออกมาจากตัวผู้ป่วย เช่น หนอง เลือด หากสัมผัสผ่านผิวหนังที่มีแผลจะเป็นช่องทางเข้าของเชื้อได้ เราจึงมักเห็นแพทย์สวมถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วย

การสัมผัสนี้ยังรวมถึงการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยที่อาจตกอยู่ตามสิ่งของ การป้องกันที่สำคัญอีกอย่างจึงเป็นการล้างมือ

Droplet:

คือละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอจามออกมา ซึ่งทุกคนน่าจะเคยเห็นภาพกราฟิกว่าละอองเหล่านี้จะกระเด็นออกไปได้ไม่เกิน 1-2 เมตร แล้วจะตกลงที่พื้นหรือสิ่งของที่อยู่ใกล้

แพทย์จะป้องกันตัวด้วยการสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) หรือหน้ากากสีเขียวสีฟ้าที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

การแพร่เชื้อแบบนี้เป็นช่องทางการติดต่อหลักของโควิด-19 เพราะเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไอ ซึ่งไม่ว่าไอแห้งหรือไอมีเสมหะก็จะมีละอองน้ำมูกน้ำลายออกมาด้วยทุกครั้ง เป็นที่มาของคำแนะนำให้ผู้มีอาการป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างจากผู้อื่น (Social Distancing)

Airborne:

คือละอองที่มีขนาดเล็กมาก (น้อยกว่า 5 ไมครอน) หรือละอองเสมหะที่ระเหยไปจนมีขนาดเล็กและมีเชื้อโรคที่มีชีวิตเกาะอยู่ ละอองนี้จะสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและไกล เชื้อโรคที่สามารถแพร่เชื้อได้แบบนี้ที่เรา (แพทย์) รู้จักมีเพียง 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด โรคสุกใสหรืองูสวัด และแบคทีเรียวัณโรค

จะสังเกตว่าทั้ง Droplet และ Airborne เป็นการแพร่เชื้อผ่านทาง ‘อากาศ’ แต่ Droplet จะต้องสูดหายใจเอาละอองขนาดใหญ่ซึ่งลอยอยู่ในอากาศได้ไม่นานเข้าไป ส่วน Airborne เป็นการหายใจเอาเชื้อโรคหรือละอองขนาดเล็กเข้าไป แพทย์จะป้องกันด้วยการสวมหน้ากากชนิด N95 และแยกผู้ป่วยอยู่ในห้องที่ควบคุมทิศทางการไหลของอากาศได้

ขอบคุณที่มา  : https://thestandard.co/what-is-airborne-can-it-spread-coronavirus/

       เอซเธติค บาย แอมเพ็ค ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านความงามการแพทย์ และการดูแลสุขภาพชั้นนำในประเทศไทยผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO9001 , ISO13485 , FDA

95/21 Banklangkrung Office Park , Nakniwat Rd , Soi Ladprao 71 , Ladprao , Bangkok , Thailand

+(66) 2539 5522

ampexcentergroup@gmail.com (Local)

ampexcenter@yahoo.com (Local and Oversea)

News Letter